ใช้สมุนไพรอย่างไรให้ปลอดภัย

ในปัจจุบันการแพทย์แผนไทยมีบทบาทมากขึ้นในการเข้าถึงระบบสุขภาพของประชาชน ในทางเดียวันประชาชนก็เริ่มหันมาให้ความสนใจในศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการแพทย์แผนปัจจุบันเพียงระบบเดียวไม่สามารถตอบสนองปัญหาสุขภาพได้อย่างครอบคลุม จำเป็นต้องมีทางเลือกในการดูแลรักษาสุขภาพจึงได้นำเอาการแพทย์พื้นบ้านหรือการแพทย์ดั้งเดิมของแต่ละประเทศมาเป็นทางเลือก

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนสักเล็กน้อย เพราะเวลาที่เราพูดถึง “ยาสมุนไพร”คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเฉพาะสมุนไพรที่เป็นพืชเท่านั้น ความจริงแล้ว ยาสมุนไพรหมายรวมถึง ยาที่ได้จากส่วนของพืช สัตว์ และแร่ที่ยังไม่ได้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ (พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510) (ยกเว้นการทำให้แห้ง) เช่น พืชก็ยังเป็นส่วนของราก ต้น ใบ ผล ซึ่งยังไม่ได้หั่น บด หรือสกัดเอาสารสำคัญออกไป นอกจากพืชสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ แล้ว พืช ผัก ผลไม้นานาชนิดที่เรากินกันในชีวิตประจำวัน ก็จัดเป็นสมุนไพรเหมือนกัน แต่เป็นสมุนไพรที่ออกฤทธิ์อ่อนๆ เรียกว่าเป็นอาหารสมุนไพร ที่ให้ประโยชน์ทั้งเป็นอาหารและยารักษาโรคไปด้วยขณะเดียวกัน โดยในวันนี้เราจะมาพูดถึง “หลักในการใช้ยาสมุนไพร” เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจและสามารถใช้สมุนไพรได้ถูกต้องและปลอดภัย

สมุนไพร แม้จะเป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอันตรายร้ายแรงเกิดขึ้น เพราะที่สุดแล้วหากใช้ไม่ถูกต้อง ใช้ไม่ถูกกับอาการ ไม่ถูกกับโรค ปริมาณขนาดที่ใช้ไม่เหมาะสม หรือใช้กับผู้ที่แพ้สมุนไพรบางชนิด ก็อาจเกิดอันตรายที่คาดไม่ถึงได้เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการใช้สมุนไพรบำบัดโรค จะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรนั้นๆ ก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนั้น การนำสมุนไพรมาใช้เป็นยา ยังต้องคำนึงถึงรายละเอียดอื่นๆ อีกด้วย เช่น ธรรมชาติของสมุนไพรแต่ละชนิด สายพันธุ์ สภาวะแวดล้อมในการปลูก ฤดูกาล และช่วงเวลาเก็บ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการออกฤทธิ์ในการรักษาโรค ซึ่งหากทำไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ คุณภาพของยาสมุนไพรนั้นๆ ก็จะด้อยประสิทธิภาพ ดังนั้นถ้าต้องการใช้สมุนไพรอย่างให้ได้ผลดีที่สุด ก็ต้องใช้อย่างมีความรู้ โดยยึดหลักดังต่อไปนี้ (หลักการใช้ยา, สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย) คือ

  1. ใช้ให้ถูกต้น สมุนไพรส่วนใหญ่มีชื่อพ้องหรือซ้ำกันมากแล้ว แต่ละท้องถิ่นก็อาจเรียกชื่อแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่เป็นพืชชนิดเดียวกัน หรือบางครั้งชื่อเหมือนกัน แต่เป็นพืชคนละชนิด เพราะฉะนั้นจะใช้สมุนไพรอะไรก็ต้องใช้ให้ถูกต้นจริงๆ ดังเช่นกรณีของหญ้าปักกิ่งที่ยกตัวอย่างข้างต้นที่นำหญ้าชนิดอื่นมาขายคนที่ไม่รู้จัก
  2. ใช้ถูกส่วน พืชสมุนไพรไม่ว่าราก ดอก ใบ เปลือก ผล หรือเมล็ด จะมีฤทธิ์ในการรักษาหรือบำบัดโรคไม่เท่ากัน แม้กระทั่งผลอ่อน หรือผลแก่ก็มีฤทธิ์แตกต่างกัน ดังนั้น การนำมาใช้ก็ต้องมีความรู้จริงๆ
  3. ใช้ให้ถูกขนาด ธรรมชาติของยาสมุนไพร คือ หากใช้น้อยไป ก็จะรักษาไม่ได้ผล แต่ถ้าใช้มากไปก็อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่นกัน
  4. ใช้ให้ถูกวิธี สมุนไพรที่จะนำมาใช้ บางชนิดต้องใช้ต้นสด บางชนิดต้องผสมกับเหล้า บางชนิดใช้ต้มหรือชง ซึ่งหากใช้ไม่ถูกต้องก็ไม่เกิดผลในการรักษา
  5. ใช้ให้ถูกโรค เช่น มีอาการท้องผูก ก็ต้องใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ถ้าไปใช้สมุนไพรที่มีรสฝาด จะทำให้ท้องยิ่งผูกมากขึ้น

โดย อาการและโรคที่ไม่ควรใช้สมุนไพร หรือถ้าหากจะใช้ควรปรึกษา แพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยชำนาญการ ในการรักษาโรคเหล่านี้ เนื่องจากยาสมุนไพรเป็นยาที่ออกฤทธิ์แบบค่อยเป็นค่อยไป และต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นหากเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง (เช่น มะเร็ง โรคเอดส์ บาดทะยัก ดีซ่าน) โรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ) โรคติดเชื้อต่างๆ (เช่น ปอดบวม ไข้ไทฟอยด์ มาลาเรีย วัณโรค กามโรค) เป็นโรคบางอย่างที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าสามารถรักษาได้ด้วยสมุนไพรอย่างชัดเจน ก็ไม่ควรที่จะเลือกใช้ยาสมุนไพร นอกจากนี้ หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง ไอ เป็นเลือด ถ่ายเป็น มูกเลือด ชัก หอบ ตกเลือด ถูกงูพิษกัด เป็นต้น อาการเหล่านี้ไม่ควรใช้ยาสมุนไพร แต่ควรจะไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

การป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา

  1. ถ้ายาใดไม่เคยกินมาก่อนเลย ควรเริ่มกินในขนาดที่น้อยๆ ก่อน เช่น กินเพียงครึ่งหนึ่งของขนาดที่กำหนดให้ รอดูว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายหรือไม่ ถ้าไม่มีจึงค่อยกินต่อไป
  2. อย่าใช้ยาเข้มข้นเกินไป เช่นยาที่บอกว่าให้ต้มกินธรรมดา ห้ามไปใช้ต้มเคี่ยวกิน เพราะยาจะเข้มข้นเกินไปจนทำให้เกิดพิษได้ เช่นยาขับน้ำนม ถ้าต้มเคี่ยวจะทำให้ยาร้อนเกินไปจนน้ำนมแห้งได้
  3. ควรรู้พิษของยาก่อนใช้ เพราะไม่มียาอะไรที่ไม่มีพิษ การรู้จักพิษจะทำให้มีความระมัดระวังในการใช้มากขึ้น
  4. ไม่ควรกินยาตัวเดียวทุกวันเป็นเวลานานๆ โดยไม่จำเป็น โดยทั่วไปไม่ควรกินยาอะไรติดต่อกันทุกวันเกินหนึ่งเดือน เพราะจะทำให้เกิดพิษสะสมขึ้นมาได้ ข้อนี้สำคัญเพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นยาสมุนไพรคงไม่มีพิษอะไร กินทุกวันคงไม่เป็นอะไร แต่ความจริงคือ ทุกอย่ามีทั้งคุณและโทษ กินมากไปก็อาจเกิดผลไม่ได้ได้เช่นกัน
  5. คนที่อ่อนเพลียมาก เด็กอ่อนและคนชราห้ามใช้ยามาก เพราะคนเหล่านี้มีกำลังต้านทานยาน้อย จะทำให้ยาเกิดพิษได้ง่าย

ดังนั้นก่อนจะใช้ยาสมุนไพรแนะนำให้ท่านไปปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์แผนไทยใกล้บ้านท่าน ก่อนที่จะเสียโอกาสและเสียเวลาที่จะต้องมารักษาอาการเจ็บป่วยหลังจากการใช้สมุนไพรที่ไม่ถูกต้อง

วันนี้ทุกคนน่าจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรมากขึ้นนะครับ ว่ามีสำคัญยังไงในการเลือกใช้สมุนไพรแต่ละชนิด เพราะถ้าใช้ไม่ถูกต้น ไม่ถูกส่วน ไม่ถูกขนาด ไม่ถูกวิธีและไม่ถูกกับโรค ก็จะทำให้เราไม่หายจากอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่หรือร้ายแรงไปกว่านั้น อาจจะไปเพิ่มความเจ็บป่วยให้แก่เราได้อีกด้วย

บทความโดย
นายบดินทร์ ชาตะเวที นักวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

error: Content is protected !!